ประโยชน์ของโปรไบโอติกต่อร่างกายโดยรวม
ในระบบทางเดินอาหารจะมีระบบเยื่อบุของทางเดินอาหาร ซึ่งถ้าในร่างกายมีจุลินทรีย์กลุ่มดี หรือโพรไบโอติกส์จำนวนมาก โพรไบโอติกส์จะไปยึดเกาะอยู่ในเยื่อบุของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งการยึดเกาะแบบนี้จะช่วยกีดกันไม่ให้เชื้อก่อโรคเข้ามาในร่างกาย หรือเข้ามายึดเกาะที่ระบบเยื่อบุได้ ก็จะทำให้เชื้อก่อโรคเหล่านั้นถูกขับออกไป เพราะมีจุลินทรีย์ดี ยึดครองถิ่นอยู่จำนวนมาก
โพรไบโอติกส์เหล่านี้ยังสามารถสร้างกรดออกมาได้ ทำให้รอบ ๆ หรือสิ่งแวดล้อมตัวโพรไบโอติกส์เป็นกรด จึงส่งผลให้ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในกลุ่มอื่น ๆ (โดยส่วนใหญ่จุลินทรีย์ตัวอื่นจะเจริญได้ดีในสภาวะที่เป็นกลาง) ดังนั้นถ้าร่างกายเรามีจุลินทรีย์กลุ่มโพรไบโอติกส์จำนวนมาก หรือจุลินทรีย์ตัวอื่น ๆ ที่มีความเป็นกรด จะทำให้ความเป็นกรดด่างภายในร่างกายของเราลดลงมา อีกทั้งการที่มีจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ในจำนวนที่มาก จะช่วยกีดกัน หรือแข่งขันกับจุลินทรีย์ก่อโรคได้ โดยจะช่วยควบคุมจุลินทรีย์บางตัว ที่รอฉวยโอกาสก่อโรค ถ้าเรามีพฤติกรรมของร่างกายที่เปลี่ยนไป เช่นมีการกินอาหารที่แปลก กินยาปฏิชีวนะ เชื้อก่อโรคเหล่านั้น ก็พร้อมที่เจริญเติบโตทันที แต่ถ้าร่างกายเรามีโพรไบโอติกส์หรือจุลินทรีย์ที่ดี ก็จะสามารถสู้กับเชื้อก่อโรคได้ และในการที่โพรไบโอติกส์มีการยึดเกาะ ครองถิ่นอยู่ในระบบทางเดินอาหาร จะมีการสร้างสาร Metabolite ซึ่งจะไป cross talk กับกลุ่มของเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันซึ่งอยู่ในระบบทางอาหาร ที่คอยตรวจตราสิ่งแปลกปลอมเพื่อกำจัดออกไป ซึ่งตั้งแรกเราเกิดมาเราจะได้รับจุลินทรีย์ที่ดีจากแม่อยู่แล้ว ดังนั้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกัน ตอบสนองออกมา เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่ดีต่อร่างกาย
จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ที่ดี จะกระตุ้นให้เซลล์ภูมิคุ้มกันสร้างกลุ่มโปรตีนที่เกี่ยวข้องในการปรับภูมิคุ้มกันให้ตอบสนองได้อย่างพอดี หรือปรับภูมิคุ้มกันที่อาจจะเคยเสียสมดุลไปแล้วให้กลับมาตอบสนองได้อย่างพอดี ส่วนในระบบเยื่อบุ โพรไบโอติกส์เองจะเข้าไปช่วยขับเคลื่อนให้เซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างแอนติบอดี ของร่างกาย สร้างแอนติบอดี ที่รับผิดชอบในระบบเยื่อบุทางเดินอาหาร ซึ่งจะคอยปกป้อง ดักเชื้อโรคไม่ให้ยึดเกาะเยื่อบุทางเดินอาหาร
ประโยชน์ของโพรไบโอติกส์ที่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้น เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และอื่น ๆ อีกทั้งยังพบว่าสามารถช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้อีกด้วย
โพรไบโอติกส์บางสายพันธุ์ สามารถสร้างเอนไซม์บางอย่าง เช่น Bile Salt Hydrolase ซึ่งเอนไซม์ตัวนี้จะไป ช่วยย่อยเกลือน้ำดีให้อยู่ในรูปที่สามารถขับออกจากร่างกายผ่านทางอุจจาระได้ เพื่อมาทดแทนเกลือน้ำดีที่ถูกขับออกไป ร่างกายก็จะดึงเอาคอเลสเตอรอลที่เก็บสะสมไว้มาใช้มากขึ้น เพื่อเป็นสารตั้งต้นในการสร้างเกลือน้ำดีใหม่ ส่งผลให้คอเลสเตอรอลในร่างกายถูกนำมาใช้มากขึ้น ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดจึงลดลงนั่นเองหรืออีกทางคือโพรไบโอติกส์สามารถดักจับคอเลสเตอรอลเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตได้โดยตรง และบางส่วนก็ดักจับแล้วถูกขับออกไป
จากการทดลองในหนู โดยเลียนแบบการรับประทานอาหาร Junk food พบว่า ในกลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูง และได้รับโพรไบโอติกส์ไปด้วย มีอัตราที่ไขมันเกาะตับ น้อยกว่า กลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูงอย่างเดียวและรายงานการวิจัยที่นำมาทดสอบกับอาสาสมัคร ที่ได้รับอาหาร หรือนมหมักที่มีโพรไบโอติกส์อยู่ด้วย พบว่า ลดปัจจัยหรือโรคที่ทำให้เกิดเมตาบอลิกได้
โพรไบโอติกส์บางสายพันธุ์เอง ไปช่วยให้เซลล์มะเร็งเกิดการตายได้เร็วขึ้น หรือในสภาวะของทางเดินอาหาร การที่มีจุลินทรีย์แบบสมดุล จะช่วยปกป้อง ป้องกัน ไม่ให้เกิดการอักเสบแบบเรื้อรัง เนื่องจากการอักเสบแบบเรื้อรัง ก็ทำให้ไปสู่การเกิดมะเร็งได้เช่นกัน
โพรไบโอติกส์ยังมีการผลิตเอนไซม์แลคเตส ซึ่งมีหน้าที่ช่วยย่อยในนม ทำให้ไม่มีอาการท้องอืด หรือท้องเสียจากการดื่มนม อีกทั้งยังช่วยให้การดูดซึมแคลเซียมดีขึ้น และยังช่วยผลิตวิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินบี วิตามินเค โดยวิตามินบีที่ได้ทำให้เซลล์ในระบบภูมิต้านทานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และยังทำให้มีการผลิตเม็ดเลือดแดงได้ดีอีกด้วย
Probiotics ในร่างกายคน
ในปัจจุบัน Probiotics ได้ถูกนำมาประยุกต์ใส่เข้าไปในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อช่วยในเรื่องสมอง ภูมิคุ้มกัน ผิวพรรณ ตอนนี้จึงมีผู้คนให้ความสนใจเป็นจำนวนมากเลยทีเดียว
Probiotics คือ กลุ่มจุลินทรีย์มีลักษณะเป็นแท่ง มีสีขาว ขาวครีม แล้วแต่กลุ่ม พบในอาหารส่วนมากในกลุ่มอาหารหมักดอง นมเปรี้ยว ผัก มีความสำคัญช่วยในการถนอมอาหาร แปรรูปอาหาร Probiotics สามารถพบได้ทั่วไปในร่างกายของคนเราอยู่แล้วในระบบเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะในช่องปาก ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ เป็นจุลินทรีย์กลุ่มดีและมีประโยชน์ ยึดเกาะตามผนังระบบทางเดินอาหาร ช่วยในการทำงานของระบบทางเดินอาหารและระบบอื่นๆ ของร่างกายเนื่องจากจุลินทรีย์ที่เป็นมิตรเหล่านี้มีส่วนช่วยในการดูดซึมสารอาหาร การป้องกันโรค และการรักษาภาวะที่ผิดปกติของร่างกาย

Probiotics เป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ปริมาณที่พอเหมาะกับร่างกายอยู่ที่ 1000 ล้านตัวต่ออาหาร 1 กรัมที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับร่างกาย ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม Lactobacillus อยู่ในอาหารและเครื่องดื่มในบ้านเรา เมื่อ Probiotics มีสมบัติที่ดีแล้วต้องทนต่อการผลิตและระหว่างการจำหน่ายต้องมีความคงอยู่ที่ดีและรอดชีวิตอยู่ได้ในทางเดินอาหาร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์นั้น ๆ ด้วย ในบ้านเราที่ประกาศให้ใช้ได้มีทั้งหมด 24 สายพันธุ์ ถ้าสายพันธุ์ใดที่ไม่ได้อยู่ในลิสของ อย. ต้องมีการทดสอบคุณสมบัติทั้งหมดตามหลักการทดสอบ จึงจะเสนอใช้ได้
ชนิดของ Probiotics ที่ใช้ในทางการแพทย์
1. Lactobacillus spp. – L. reuteri, L. Casei, L. Acidophilus, L. Bulgaricus, L.brevis, L. Rhamnosus
2. Saccharomyces boulardii
3. Enterogermina – Bacillus clausii, Bacillus subtilis
4. Bifidobacterium spp. – B. Bifidum, B. Longum, B. Breve, B.infantis
5. Streptococcus thermophilus
คุณสมบัติของ Probiotics ที่สำคัญ
- ช่วยยึดเกาะเยื่อบุผนังในระบบทางเดินอาหาร ดักจับจุลินทรีย์ไม่ดีให้เจริญเติบโต
- สร้างสารต้าน ยับยั้ง ทำลาย จุลินทรีย์ไม่ดีได้
- โรคตับ เช่น ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์
- ระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น การติดเชื้อราในระบบทางเดินปัสสาวะ
การนำ Probiotics มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน มีการทดลองและวิจัยในกลุ่มคนที่มีการกินอาหารประเภท junk food ตัวจุลินทรีย์จะช่วยลดปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคในกลุ่มคอเลสเตอรอลได้ หรือแม้กระทั่งช่วยลดเซลล์มะเร็งได้ ป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบและเรื้อรังได้ ในเรื่องอาหารหมักดองจะมีกลุ่มจุลินทรีย์และยีสต์ที่มีประโยชน์และนิยมนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ในรูปแบบเครื่องดื่มเริ่มนิยมมากเช่นเดียวกันสามารถบริโภคเพื่อสุขภาพได้
ตัวอย่างอาหารที่มี Probiotics ที่อยากจะแนะนำ เช่น กิมจิ โยเกิร์ต คอมบูชา พาร์มีซานชีส
การใช้ Probioticsไม่เพียงแต่ใช้ประโยชน์แค่สำหรับอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ยังนำมาใช้ประโยชน์ในด้าน cosmetic ได้อีกด้วยแต่ด้วยสถานการณ์โควิดทำให้มีการผลิตได้ยาก ปัจจัยที่สำคัญในการผลิตต้องดูสายพันธุ์ให้เหมาะกับตัวสินค้านั้น ๆ ด้วย คุณภาพที่บริโภคต้องการและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์มีความจำเป็นทั้งหมด ต้องไม่มีสารก่อให้เกิดโรค และราคาต้องสมเหตุสมผลกับคุณภาพเพราะส่วนผสมส่วนใหญ่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ในการผลิตจำเป็นอย่างมากต้องให้ความสำคัญกับสายพันธุ์อย่างมาก เพราะแต่ละสายพันธุ์อาหาร การเจริญเติบโตไม่เหมือนกัน รวมไปถึงการทนต่อสภาพแวดล้อม กระบวนการผลิตต้องอาศัยความเชี่ยวชาญอย่างสูง ในส่วน อาจจะต้องมีการใส่สารคาร์บอน ไนโตรเจน เข้าไปด้วยขึ้นอยู่กับกลุ่มผลิตภัณฑ์ เพื่อประสิทธิภาพที่ดีในการใช้ การบรรจุก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ probiotics มีประโยชน์และคุณภาพมากที่สุดก่อนถึงผู้บริโภค
สุดท้ายแล้วการรับประทานให้หลากหลายควบคู่กับการออกกำลังกายถือเป็นการสร้างเสริมจุลินทรีย์ที่ดี ทำให้ร่างกายแข็งแรงและทำให้มีภูมิคุ้มกันที่ดี และปัจจุบันในตลาดมีให้เลือกหลากหลายอย่างให้เหมาะกับร่างกายของแต่ละท่าน ดังนั้นเลือกสายพันธุ์ที่ใช่ในปริมาณที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และในเมืองไทยเริ่มมี probiotics ผลิตเองได้แล้ว โดยเริ่มจากสัตว์ก่อนและต่อมาเริ่มใช้กับในคนแล้วด้วย ท้ายที่สุดแล้วได้มีบริษัทเริ่มทำ probiotics เองและจำหน่ายแล้วด้วย
ร่างกายมนุษย์แต่ละตำแหน่ง กับจุลินทรีย์ Probiotics
ถ้าพูดถึง Probiotics แล้วหลายๆคนอาจจะคิดว่าเป็นจุลินทรีย์ที่ต้องทานเข้าไปจากภายนอกอย่างเดียวเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วเชื่อไหมว่าภายในร่างกายของคนเราก็มี Probiotics ที่อยู่ตามตำแหน่งต่าง ๆ อยู่แล้วอีกด้วย
ความสำคัญของ Probiotics อย่างที่ทราบกันดีคือใช้ในการถนอมอาหาร หรือใช้ในอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่ดีที่อยู่กับมาตั้งแต่เกิดเลยก็ว่าได้ สามารถพบได้ตามช่องปาก กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ คอยดักจับจุลินทรีย์กลุ่มไม่ดีทีเข้าสู่ร่างกาย ส่วนใหญ่จะยึดเกาอยู่ตามผนังของระบบทางเดินอาหารคอยกีดกันไม่ให้เชื้อก่อโรคที่จะเข้ามายึดเกาะได้
Probiotics ในช่องปาก โดยส่วนใหญ่แล้วคนจะนึกถึงประโยชน์ของลำไส้เป็นส่วนใหญ่ แต่ว่าในปัจจุบันแล้วได้มีการศึกษา Probiotics เกี่ยวกับช่องปากและฟันเป็นจำนวนมากขึ้น เนื่องจากว่ากลไกการทำงานของ Probiotics ในช่องปากและในลำไส้นั้นคล้ายคลึงกัน และบางงานวิจัยพบว่า Probiotics มีส่วนช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในช่องปากที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดฟันผุได้อีกด้วย
Probiotics ในกระเพาะอาหาร แน่นอนว่าแหล่งที่อยู่หลักๆของ Probiotics จะอยู่ที่ระบบทางเดินอาหาร และคอยช่วยป้องกันโรคหรือความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารได้ด้วย อย่างเช่น อาการท้องเสีย ส่วนนึงเกิดจากการติดเชื้อของแบคทีเรีย ทำให้ถ่ายเหลวเป็นน้ำได้ หรือโรคกระเพาะอาหาร คือการติดเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (H. Pylori) หรืออาจเกิดจากการทานยาบางชนิดและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ทำให้มีอาการไม่สบายท้อง อาเจียน และตัว Probiotics นี้จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อดังกล่าวได้
Probiotics ในลำไส้เล็ก และ ลำไส้ใหญ่ การที่มี Probiotics ในเยื่อบุผนังลำไส้ แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะช่วยป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ และช่วยป้องกันโรคร้ายแรงที่จะตามมาได้แน่นอน อย่างเช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ถ้าหากว่าในลำไส้ใหญ่ของเรามีแบคทีเรียไม่ดีฝังตัวอยู่มาก จะทำให้การสร้างเซลล์มะเร็งเป็นไปได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่ชอบทานอาหารประเภทไขมันและเนื้อสัตว์ เพราะเป็นการเพิ่มสารกลุ่มไนโตรเจนและอะโรมาติคเอมีน แต่ถ้าหากเรามี Probiotics ที่ดีมากพอจะช่วยยับยั้งแบคทีเรียหรือสารพิษเหล่านี้ได้
ปัจจัยที่ทำให้ Probiotics ของร่างกายลดลง
- การรับประทานน้ำตาลหรือของหวานเป็นประจำ
- การรับประทานอาหารกลุ่มแป้งที่ผ่านการขัดสี
- ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นประจำ ทำให้ Probiotics ในระบบทางเดินอาหารลดลง
- ภาวะเครียด
- การสูบบุหรี่
- การพักผ่อนไม่เพียงพอ
- ไม่ได้ออกกำลังกาย มีภาวะอ้วน
- อายุที่มากขึ้น ส่งผลให้ Probiotics ในระบบร่างกายลดลงได้เช่นกัน
เราต่างรู้กันดีว่าในโยเกิร์ตและนมเปรี้ยวนั้นมี Probiotics หรือว่าจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากแต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า Probiotics สามารถพบได้ในอาหารประเภทอื่น ๆ อีกด้วย เช่น กิมจิ ซุปมิโสะ คอมบุชาหรือชาหมัก แตงกวาดอง ในชีสบางชนิด อย่างเชดด้าชีส หรือมอสซาเรลลาชีส เป็นต้น เราจึงควรเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลายและได้คุณค่าทางอาหารมากที่สุด
สุดท้ายนี้ ก่อนการรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริม Probiotics ควรศึกษาข้อมูลและปฏิบัติตามคำแนะนำที่ระบุบนฉลาก และ Probiotics ยังถือเป็นอาหารเสริมสุขภาพ ไม่ใช่ยารักษาโรค หากผู้ที่ต้องการรับประทานเพื่อรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ถึงความปลอดภัย ความเสี่ยง รวมถึงปริมาณที่เหมาะสมต่อตนเองก่อนเสมอ โดยเฉพาะเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายให้ได้มากที่สุด แนะนำทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และมีประโยชน์ต่อร่างกาย ก็จะทำให้ร่างกายไม่เสียสมดุลและแข็งแรงขึ้นมาได้